วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

น้ำหนักของเราเพิ่มหรือลดได้อย่างไร

ทำอย่างไรน้ำหนักเราจะลด

          ในทุกๆ วัน ให้เราพยายาม ทานอาหารให้ได้พลังงานน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้ เมื่อพลังงานที่ได้จากอาหารมีไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะไปดึงพลังงานที่เก็บสะสมในร่างกายมาใช้ น้ำหนักของเราก็จะลดลง

          ขอให้จดจำหลักการที่สำคัญที่สุดที่ว่า ยิ่งพลังงานที่เราใช้มากกว่าพลังงานที่เราได้จากอาหารมากเท่าไหร่ น้ำหนักตัวเราก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น

          พลังงานที่เราใช้ - พลังงานที่ได้จากอาหารที่ทาน = > ยิ่งมาก ยิ่งลดน้ำหนักได้มาก         

          ซึ่งวิธีที่ทำให้เราเผาผลาญ (ใช้) พลังงานมากกว่าพลังงานที่ได้จากอาหารที่ทานก็มีสองวิธี

          วิธีแรกก็คือ ทานอาหารให้ได้พลังงานน้อยลง เช่น ทานไขมันน้อยลง ทานคาร์โบไฮเดรตน้อยลง

          วิธีที่สองก็คือ ทำให้ร่างกายเราเผาผลาญ (ใช้) พลังงานมากขึ้น (ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน) เช่น มีกิจกรรมให้มากขึ้น ออกกำลังกาย หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายมีปริมาณโปรตีน (กล้ามเนื้อ) เพิ่มขึ้น เป็นต้น

          สรุปก็คือ หากเราสามารถทำให้ร่างกายเราเผาผลาญพลังงานมากกว่าพลังงานจากอาหารที่ทาน น้ำหนักก็จะสามารถลดลงได้แน่นอน 100%

          ฟังดูแล้วก็เป็นหลักการที่เข้าใจง่าย น่าจะทำตามได้ง่าย และคนจำนวนมากก็เข้าใจถึงหลักการนี้ แต่หากเป็นเรื่องง่ายแบบนั้นจริงคนส่วนใหญ่ก็คงจะไม่อ้วนแบบนี้ เหตุที่บางคนเข้าใจหลักการนี้แต่ลดน้ำหนักไม่ได้ก็เพราะว่า ยังมีความเข้าใจอีกมากมายที่ยังเข้าใจผิดทำให้วันนี้ยังไม่สามารถกำจัดไขมันส่วนเกินไปจากร่างกายอย่างถาวร (บางคนกลับยิ่งมีมากขึ้น) ซึ่งเราจะเข้าใจเรื่องลดน้ำหนักอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาบทถัดๆ ไป

ลดปริมาณพลังงาน ไม่ใช่ลดปริมาณอาหาร

          ความเข้าใจทำสำคัญที่สุดก็คือ น้ำหนักของเราจะลดเมื่อเราเผาผลาญ (ใช้) พลังงาน มากกว่าพลังงานที่ได้จากอาหารที่ทานซึ่งไม่ได้แปลว่าหากเราทานอาหารปริมาณน้อยลง แต่ยังได้พลังงานพอๆ กับพลังงานที่เราใช้ น้ำหนักเราก็ไม่ลดลงอยู่ดี

          เช่น ร่างกายเราเผาผลาญ 2.000 กิโลแคลอรี่ แล้วเราทานไก่ทอดมื้อละ 2 น่อง วันละ 3 มื้อ แล้วไม่ทานอย่างอื่นเลย เราจะได้พลังงานจากอาหารประมาณ 2,070 กิโลแคลอรี่ จะเห็นว่าเราทานอาหารปริมาณไม่มาก แต่พลังงานที่ได้จากอาหารที่ทานพอๆ กับพลังงานที่เราใช้ น้ำหนักเราจะไม่ลดลงเลย แถมน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นทีละนิดด้วย เพราะเราได้พลังงานจากอาหารที่ทานมากกว่าพลังงานที่เราใช้ (น้ำหนักเพิ่มประมาณปีละ 3 กิโลกรัม)

          แต่วิธีการที่ถูกต้องคือ การลดปริมาณพลังงานจากอาหารที่ทานลง เช่น หากเราทานผัดถั่วงอกเต้าหู้มื้อละ 3 จาน วันละ 3 มื้อ จะเห็นว่าเราทานอาหารถึงมื้อละ 3 จาน แต่เราจะได้พลังงานประมาณ 1.395 กิโลแคลอรี่ต่อวันเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้ (2,000 กิโลแคลอรี่) แบบนี้น้ำหนักเราจะลดลงได้ (ประมาณเดือนละ 2.3 กิโลกรัม)

น้ำหนักจะเพิ่มลดเท่าไหร่

          เนื่องจากแต่ละคนจะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ไม่เท่ากันและทานอาหารได้พลังงานไม่เท่ากัน เราจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าใครจะลดน้ำหนักได้เดือนละกี่กิโลกรัม น้ำหนักที่ลดลงได้มากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับว่าเราได้พลังงานจากอาหารที่ทานน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้มากเท่าไหร่ ยิ่งเราได้พลังงานจากอาหารที่ทานน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้มากเท่าไหร่ น้ำหนักก็จะยิ่งลดลงได้มาก

          จากข้อมูลทางการแพทย์ หากเราทานอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าพลังงานที่เราใช้ทุกๆ 7,700 กิโลแคลอรี่ น้ำหนักของเราจะเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม และในทางตรงกันข้าม หากเราทานอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้ทุกๆ 7,700 กิโลแคลอรี่ น้ำหนักเราจะลดลง 1 กิโลกรัม

          เช่น สมมุติว่าร่างกายเราเผาผลาญพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ เราทานอาหารได้พลังงานวันละ 1,230 กิโลแคลอรี่ทุกวันเราจะได้พลังงานจากอาหารที่ทานน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้ 770 กิโลแคลอรี่ (2,000 - 1,230 = 770) เมื่อครบ 10 วันรวมแล้วพลังงานจากอาหารที่ทานน้อยกว่าพลังงานที่เราใช้เท่ากับ 7,700 กิโลแคลอรี่ น้ำหนักเราก็จะลดลงประมาณ 1 กิโลกรัม

          โดยน้ำหนักของเราจะไม่ลดลงแบบเส้นตรง หมายถึงจะไม่ได้ลดลงด้วยอัตราคงที่ตลอดเวลา เช่น ไม่ได้ลดลง 1 กิโลกรัมทุกๆ 10 วัน แต่จะลดลงแบบขั้นบันได เช่น 3 วันแรกลดลง 0.5 กิโลกรัม อีก 4 วันถัดมาคงที่ อีก 2 วันถัดมาลดลงอีก 0.5 กิโลกรัม อีก 3 วันถัดไปคงที่ เป็นต้น (ไม่ได้เหมือนขั้นบันไดเป๊ะ แต่จะมีลักษณะคล้ายขั้นบันไดมีช่วงที่น้ำหนักลง มีช่วงที่น้ำหนักคงที่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น