วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเข้าใจเรื่องพลังงาน

พลังงานที่ร่างกายเผาผลาญ         
         
          ปกติแล้วทางการแพทย์จะบอกว่า โดยเฉลี่ยคนเราจะเผาผลาญพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ อย่างไรก็ตามร่างกายแต่ละคนจะเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเผาผลาญเพียง 1,700 กิโลแคลอรี่ บางคนจะเผาผลาญ 2,500 กิโลแคลอรี่
         
          ปัจจัยที่จะทำให้ร่างกายเราเผาผลาญพลังงานมากหรือน้อยนั้นมีมากมายและซับซ้อนมาก แต่หากเอาเฉพาะเรื่องหลักๆ แล้วจะมีดังนี้
         
          1.อายุ คนที่อายุกขึ้นอวัยวะต่างๆ มักจะทำงานน้อนลง ร่างกายจึงเผาผลาญพลังงานน้อยลง
         
          2.กิจกรรมในแต่ละวัน ยิ่งในระหว่างวันเรามีกิจกรรมมากร่างกายเราก็จะเผาผลาญพลังงานมาก เช่น คนที่ทำงานบ้านและเดินระหว่างวัน จะเผาผลาญพลังงานมากกว่าคนที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ และยิ่งกิจกรรมนั้นต้องใช้แรงมากก็จะยิ่งเผาผลาญพลังงานมากขึ้นด้วย เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก ร่างกายก็จะเผาผลาญพลังงานมากกว่า นั่ง นอน สรุปง่ายๆ ว่าหากใช้แรงมากร่างกายก็จะเผาผลาญพลังงานมาก เหมือนรถยนต์ถ้าใช้งานมาก ก็จะใช้น้ำมันมากกว่ารถที่จอดเอาไว้เป็นส่วนใหญ่
         
          3.น้ำหนักตัว คนที่น้ำหนักตัวมากกว่า จะเผาผลาญพลังงานมากกว่า เพราะต้องใช้แรงในการเคลื่อนไหวตัวมากกว่าเหมือนรถยนต์หากวิ่งเท่ากัน รถคันที่บรรทุกน้ำหนักมากกว่าจะใช้น้ำมันมากกว่า
         
          4.ปริมาณโปรตีน (กล้ามเนื้อ) ในร่างกาย คนที่มีโปรตีน (กล้ามเนื้อ) ที่มากกว่าร่างกายจะเผาผลาญพลังงานมากกว่า เช่น นักกีฬาเพาะกาย ร่างกายจะเผาผลาญมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉลี่ยแล้วโปรตีนในร่างกายที่เพิ่มขึ้น 1 ปอนด์ (0.45กิโล) ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 14 กิโลแคลอรี่
         
          5.โรคบางประเภท เช่น ไทรอยด์ประเภทหนึ่งจะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ ในขณะที่ไทรอยด์อีกประเภทหนึ่งจะทำให้เร่างกายเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ เป็นต้น
         
          6.ยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิดบางยี่ห้อก็ส่งผลให้ร่างกายเราเผาผลาญพลังงานน้อยลง ยาแก้แพ้ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ก็จะทำให้เราลดน้ำหนักยากขึ้น

ร่างกายเราเผาผลาญประมาณเท่าไร
         
          หากเราต้องการทราบว่า จริงๆ แล้วร่างกายเราเผาผลาญเท่าไหร่ เราสามารถคำนวณคร่าวๆ ได้โดยใช้สูตรของ Harris-Benedict ดังนี้

          โดยเริ่มต้นจากการคำนวณค่า BMR (Basal Metabolic Rate) หรือเรียกว่าอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะที่เราพัก ซึ่งก็คือตัวเลขที่บอกให้เราทราบว่า หากเราไม่มีกิจกรรมอะไรเลย (นั่งๆ นอนๆ) ร่างกายเราจะใช้พลังงานประมาณเท่าไหร่

          ผู้หญิง : BMR = 665 + (9.6 x น้ำหนักเป็นกิโลกรัม) + (1.8 x ส่วนสูงเป็น ซม.) - (4.7 x อายุหน่วยเป็นปี)

          ผู้ชาย : BMR = 66 + (13.7 x น้ำหนักเป็นกิโลกรัม) + (5 x ส่วนสูงเป็น ซม.) - (6.8 x อายุหน่วยเป็นปี)


          เมื่อได้ค่า BMR มาแล้ว เราก็จะนำมาคำนวณว่าปกติในแต่ละวันร่างกายเราเผาผลาญพลังงานวันละเท่าไร โดยจะนำค่า BMR ที่ได้มาคูณกับตัวแปรตามสูตร ซึ่งตัวแปรนี้ขึ้นอยู่กับว่าโดยเฉลี่ยเรามีกิจกรรมมากน้อยแค่ไหนดังรายละเอียด
 
          หากเรานั่งทำงานอยู่กับที่ และไม่ได้ออกกำลังกายเลยตัวแปรจะ = 1.2
         
          หากเราออกกำลังกายเล็กน้อย ประมาณสัปดาห์ละ 1-3 วัน ตัวแปรจะ = 1.375
 
          หากเราออกกำลังกายปานกลาง ประมาณสัปดาห์ละ 3-5 วัน ตัวแปรจะ = 1.55
 
          หากเราออกกำลังกายอย่างหนัก ประมาณสัปดาห์ละ 6-7 วัน ตัวแปรจะ = 1.725
 
          หากเราออกกำลังกายอย่างหนักทุกวัน วันละ 2 รอบทั้งเช้าและเย็น ตัวแปรจะ = 1.9
 
          เช่น มีค่า BMR 1,493 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หากเราออกกำลังกายประมาณสัปดาห์ละ 1-3 วัน ค่าตัวแปรก็คือ 1.375
          แปลว่าร่างกายเราจะเผาผลาญพลังงานประมาณ 1,493 x 1.375 = 2,053 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น